สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โครงการธัชวิทย์ ,หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) จัดการประชุมนานาชาติด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย ประจำปี 2567 หรือ SynBio Consortium 2024 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักนวัตกรรมชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของชีววิทยาสังเคราะห์ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ ส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก เช่น การพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน และพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ
นายศุภชัย กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio Development Roadmap) ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการขับเคลื่อนแผนที่นำทางนี้ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยแผนงานต่าง ๆ ภายใต้แผนที่นำทางฉบับนี้จะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่ช่วยสนับสนุนการประยุกต์ใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนด้านสุขภาพ และมีส่วนสำคัญต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้มุมมองของภาคเอกชนต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบนฐานการประยุกต์ใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ ว่าชีววิทยาสังเคราะห์ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญยิ่งในการพลิกโฉมความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยจะเข้ามาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ ส.อ.ท. พร้อมจับมือกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์และนำมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มาสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพาประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ SynBio Development Roadmap ว่า แผนที่นำทางนี้ไม่ใช่เพียงแผน แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกและใช้จุดแข็งของประเทศไทย เชื่อว่าเราจะสามารถสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง สนับสนุนการประยุกต์ใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ในหลากหลายอุตสาหกรรมได้
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้กล่าวว่าเครือข่าย SynBio หรือ SynBio Consortium ได้มีการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2565 ด้วยวิสัยทัศน์ “ชีววิทยาสังเคราะห์สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)” โดย ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ไปสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านการเสนอแนะ ผลักดัน และร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านกฎระเบียบ มาตรการและกลไกที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศสนับสนุนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมซึ่งมีฐานมาจากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์และเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง ซึ่งความร่วมมือภายใต้เครือข่ายนี้ จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านชีววิทยาสังเคราะห์ได้อย่างยั่งยืน
ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวปิดงานและกล่าวขอบคุณผู้ร่วมอภิปราย ผู้ดำเนินงาน และผู้เข้าร่วมงานทุกคน ที่ได้มีส่วนร่วมทำให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้ขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวง อว. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลเชิงลึกและการหารือในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแผนที่นำทางการพัฒนา SynBio จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อ และเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความก้าวหน้าของชีววิทยาสังเคราะห์ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ประกอบไปด้วยการจัดเสวนาใน 5 หัวข้อ ได้แก่ 1. ความท้าทายและกฎระเบียบในการแก้ไขยีนในพืช แลกเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขยีน (Gene Editing: GEd) ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบใหม่ของไทย นำเสนอกรณีตัวอย่างจากธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี GEd ในสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เพื่อให้มุมมองระหว่างประเทศ อีกทั้งมีการอัปเดตสถานะการวิจัย GEd ในไทย เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่มีอยู่ 2. การนำงานวิจัยไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นถึงข้อเสนอแนะ ความท้าทาย และแนวทางการส่งเสริมงานวิจัยด้าน SynBio จากห้องปฏิบัติการไปสู่ตลาด บทบาทของ Accelerator และความก้าวหน้าในภูมิภาค อภิปรายข้อดี ข้อเสียของความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรม 3. การวิจัยอย่างรับผิดชอบในชีววิทยาสังเคราะห์ มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมการวิจัยอย่างรับผิดชอบ โดยเน้นจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีกรณีศึกษาเพื่อเน้นปัญหาจริยธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีชีวภาพที่ผ่านมา 4. ความสำคัญของมาตรฐานทางเทคนิคในชีววิทยาสังเคราะห์ มุ่งเน้นบทบาทของมาตรฐานในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในสาขานี้ โดยพิจารณาความท้าทายในการจัดการข้อมูลในวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบาย และ 5. โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแรงงานทักษะสูง สำหรับการขยายขนาดในระดับอุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากรที่มีความสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ มีการนำเสนอเกี่ยวกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และการศึกษาภูมิทัศน์ชีววิทยาสังเคราะห์ เน้นถึงสถานะและศักยภาพของสาขานี้ในประเทศ
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้นำเสนอมุมมองที่มีประโยชน์สำหรับความก้าวหน้าด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในอนาคต ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทยต่อไป